ร้อยกรองประเภทกลอน เป็นร้อยกรองที่นับได้ว่าแพร่หลายที่สุดและเชื่อกันว่าเป็นของไทยแท้ ๆ ไม่ได้ดัดแปลงจากคำประพันธ์ของชนชาติอื่น คำประพันธ์ประเภทกลอนแต่งกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแพร่หลายและเฟื่องฟูในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังเห็นได้จากวรรณคดีที่เป็นกลอน เช่น บทละครเรื่องอิเหนาและดาหลัง เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง
ลักษณะของกลอน
กลอน เป็นบทร้อยกรองประเภทหนึ่งที่มีความแตกต่างจากความเรียงร้อยแก้ว เนื่องด้วยมีการบังคับคณะหรือจำนวนบท จำนวนบาท จำนวนคำภายในวรรค รวมถึงสัมผัสและเสียงวรรณยุกต์ซึ่งบทร้อยกรองประเภทกลอนแบ่งได้หลายประเภทโดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น กลอนบทละคร กลอนสักว่า กลอนเสภา กลอนดอกสร้อย โดยใช้อ่านและฟังเพื่อความเพลิดเพลิน
กลอนเป็นบทร้อยกรองที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านผู้แต่งและผู้อ่าน เพราะมีการเรียบเรียงถ้อยคำที่คล้องจองกัน เมื่ออ่านแล้วจึงเกิดความรู้สึกไพเราะ เพลิดเพลิน และจดจำได้ง่าย
การแต่งกลอนสุภาพ
กลอนสุภาพเป็นร้อยกรองที่มีวิธีการแต่งค่อนข้างง่าย เหมาะกับผู้เริ่มต้นแต่งคำประพันธ์มีฉันทลักษณ์ ดังนี้
1) ลักษณะบังคับของกลอนสุภาพ
1.1) คณะ บทหนึ่งมี 2 คำกลอน หรือ 4 วรรค วรรคหนึ่ง ๆ มี 7-9 คำ ส่วนมากนิยมให้มี 8 คำ
วรรคที่ 1 เรียกว่า วรรคสดับ
วรรคที่ 2 เรียกว่า วรรครับ
วรรคที่ 3 เรียกว่า วรรครอง
วรรคที่ 4 เรียกว่า วรรคส่ง
การแต่งกลอนสุภาพเรื่องหนึ่งจะมีความยาวกี่บทก็ได้ แต่ต้องแต่งให้ครบบท คือ ต้องจบลงที่วรรคส่งเท่านั้น
1.2) สัมผัส หมายถึง คำคล้องจองกัน ซึ่งการใช้คำสัมผัสจะช่วยทำให้บทร้อยกรองมีท่วงทำนองเสียงที่ร้อยเรียงเกี่ยวเนื่อง ทำให้เกิดเสียงเสนาะที่ไพเราะน่าฟัง สัมผัสแบ่งออกเป็น
สัมผัสใน เป็นสัมผัสที่อยู่ภายในวรรค ช่วยทำให้บทร้อยกรองมีความไพเราะ แต่ไม่ถือเป็นข้อบังคับ สัมผัสในมีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร
สัมผัสนอก เป็นสัมผัสระหว่างวรรคและระหว่างบท โดยคำที่บังคับจะมีสัมผัสสระคล้องจองกัน ถือเป็นสัมผัสบังคับ
สัมผัสระหว่างบท คำสุดท้ายของวรรคสดับสัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรครับ, คำสุดท้ายของวรรครับสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรครอง และคำสุดท้ายของวรรครองสัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรคส่ง
สัมผัสระหว่างวรรค คำสุดท้ายของวรรคส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรครับในบทต่อไป