การแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์

คำประพันธ์ประเภทฉันท์ไทยได้แบบอย่างมาจากคัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเขียนไว้เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต โดยไทยได้คัดเลือกและดัดแปลงเท่าที่เห็นว่าเหมาะสมกับลักษณะของภาษาไทยและยังเติมสัมผัสเข้าไปอีกด้วย จึงทำให้ฉันท์ในภาษาไทยมีความไพเราะฟังรื่นหูคนไทยมากกว่าที่จะใช้ตามแบบเดิม ซึ่งบังคับครุ ลหุ เป็นสำคัญ

   ในการแต่งฉันท์เป็นเรื่องราวต่าง ๆ นั้น มักมีการนำกาพย์บางชนิดมาแต่งสลับกับฉันท์ด้วย กาพย์ที่นิยมใช้กันมาก คือ กาพย์สุรางคนางค์และกาพย์ฉบัง และเรียกว่าคำฉันท์เหมือนกัน ในหนังสือสามัคคีเภทคำฉันท์ของ นายชิต บุรทัต ได้ใช้ฉันท์ถึง 20 ชนิด ซึ่งแสดงว่ากวีท่านนี้มีความสามารถมาก แต่ในบทเรียนนี้จะขอเสนอวิธีแต่งฉันท์เพียง 4 ชนิดเท่านั้น เพื่อให้เหมาะแก่ระดับชั้นและวัยของผู้เรียน


ลักษณะบังคับของฉันท์

   ฉันท์มีลักษณะบังคับ 4 ประการคือ คณะ พยางศ์ สัมผัส และครุ ลหุ ซึ่งเดิมนั้นกำหนดเพียง

ครุ ลหุ แต่ไทยเพิ่มสัมผัสให้ไพเราะ ฉันท์ที่ไทยนิยมแต่ง ได้แก่ วิชชุมมาลาฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์

ภุชงคประยาตฉันท์ และวสันตดิลกฉันท์

   ก่อนจะกล่าวถึงฉันทลักษณ์ของฉันท์ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ครุ ลหุ ดังนี้

   ครุ คือ พยางค์หรือคำที่ออกเสียงหนัก ได้แก่ คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) รวมอำ ไอ ใอ เอา และคำที่มีตัวสะกดทั้งหมด เช่น จำ ไกล ใจ เขา นก หัด ภาพ แรง จาน ยาว สวย ชม เป็นต้น โดยใช้สัญลักษณ์ "  ั " แทนคำ ครุ

ลหุ คือ พยางค์หรือคำที่ออกเสียงเบา ได้แก่ คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา รวมทั้งสระอำ และคำ บ บ่ ก็ ฤ กับพยัญชนะลอยที่ออกเสียงอะประสมอยู่ เช่น อุระ สติ อนุ สรณะ รวิ เป็นต้น โดยใช้สัญลักษณ์ " ุ " แทนคำ ลหุ